ประเด็นร้อน
ระบบแจ้งเบาะแส สัญญาณกันขโมยที่ดีสุด
โดย ACT โพสเมื่อ Jul 18,2019
- - ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ - -
คอลัมน์ ทัศนะจากผู้อ่าน : โดย พนา รัตนบรรณางกูร ผู้อำนวยการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)
“เราต้องพูดกันให้ชัดเจนว่า คอร์รัปชันในบ้านเรานี้คือการปล้นชาติเรานั่นเอง เราก็ถูกปล้นด้วยกันนะครับ”
ขอเริ่มต้นบทความวันนี้ด้วยวาทะของท่านรัฐบุรุษ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้กล่าวในปาฐกถาพิเศษของงานสัมมนาประจำปี 2558 ของแนวร่วมปฏิบัติของภาพเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)
คอร์รัปชันก็เหมือนโจร หรือขโมยที่สร้างความเสียหายให้กับพวกเราทุกคนอย่างที่ท่านพล.อ.เปรม เปรียบเปรยเอาไว้ อย่างไรก็ตาม การจับโจรหรือป้องกันโจร ไม่ได้เป็นเรื่องของหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว ภาคเอกชนเองก็ต้องมีส่วนช่วยด้วย ซึ่งการมีระบบการแจ้งเบาะแส (whistle blowing) ที่มีประสิทธิภาพ ก็เหมือนการติดตั้งสัญญาณกันขโมยที่ใช้งานได้ดี ถ้ายิ่งเป็นระบบที่ไวและคนทั้งองค์กรสามารถเข้าถึงได้ง่ายแล้ว ก็จะยิ่งรับรู้ถึงปัญหาได้เร็ว หาวิธีแก้ไขได้อย่างตรงจุด และทันท่วงที
จากสถิติของสมาคมผู้ตรวจสอบการทุจริต (Association of Certified Fraud Examiners) ของประเทศสหรัฐ พบว่า ประมาณ 40% ของกรณีทุจริตที่ตรวจพบเป็นข้อมูลที่ได้เเบาะแส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการมีช่องทางการแจ้งเบาะแสสามารถใช้จับทุจริตภายในบริษัทได้ดีกว่าการจ้างผู้ตรวจสอบภายนอก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลามากเสียอีก
จึงเป็นที่มาของมาตรฐานสากลในการสร้างระบบแจ้งเบาะแสอย่างเป็นทางการ ซึ่งหนึ่งใน checklist 71 ข้อที่ CAC ใช้ในการประเมินเพื่อให้การรับรองว่าบริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติป้องการการจ่ายสินบน กำหนดให้บริษัทประเมินต้องมีช่องทางการแจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิภาพด้วย ดังนั้น CAC จึงมีโอกาสได้เห็นระบบแจ้งเบาะแสรูปแบบต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น บริษัทพฤกษาฯ ซึ่งใช้ Line app และอีเมล์ รวมถึงการให้เงินรางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสถึง 30,000 บาทด้วย
จากประสบการณ์ CAC ในโครงการต้นแบบ Citizen Feedback เมื่อปี 2560 เพื่อให้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นความพึงพอใจและความโปร่งใสของการใช้บริการในบางส่วนงานของกรมที่ดิน กรมการขนส่งทางบก และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่านสมาร์ทโฟน ทำให้พบว่าช่องทางแจ้งเบาะแสที่ดีจะต้องมีส่วนประกอบสำคัญคือ ่สะดวก และปลอดภัย การพิจารณาข้อมูลที่เป็นกลาง เชื่อถือได้ และต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน
หากนำส่วนประกอบสำคัญทั้ง 3 มาประยุกต์ให้เข้ากับช่องทางการแจ้งเบาะแสของบริษัท หมายความว่า ระบบการแจ้งเบาะแสที่ดีควรมีสิ่งต่อไปนี้
- ช่องทางหลากหลายและเหมาะกับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าพนักงาน คู่ค้า หรือลูกค้าในแต่ละกลุ่ม เช่น อีเมล์ เว็บไซต์ แอพลิเคชั่น ฮอตไลน์ และ กล่องรับข้อร้องเรียน
- นโยบายที่ชัดเจนในการปกป้องข้อมูลและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองของผู้แจ้งเบาะแส เพื่อไม่ให้ถูกกลั่นแกล้งโดยผู้ที่ถูกรายงานว่ากระทำการทุจริต
- การเปิดเผยขั้นตอนการพิจารณาเบาะแสซึ่งรวมถึงผู้รับเรื่องร้องเรียน ขั้นตอนการสอบสวน ระยะเวลาการพิจารณา และการแจ้งผลกลับไปยังผู้แจ้ง
- ผู้รับเรื่องควรมีมากกว่าหนึ่งคนและไม่ควรเป็นแค่หัวหน้าฝ่ายหรือผู้บริหารสูงสุด ซึ่งจากหลายๆ บริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC มีการตั้งตัวแทนจากหลายๆ ฝ่ายให้ร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณา ซึ่งมีผู้บริหารสูงสุดด้วยก็ได้
- การแจ้งผลกลับไปหาผู้แจ้งเบาะแสซึ่งสำคัญมาก เพราะหากมีการแจ้งเบาะแสแล้วไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็จะทำให้คนในองค์กรไม่ศรัทธาในระบบแจ้งเบาะแส
นอกจากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว การเปิดเผยข้อมูลสถิติหรือประเภทของเบาะแสที่มีการแจ้งเข้ามาให้คนในองค์กรทราบก็เป็นการเพิ่มความโปร่งใส และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานในระดับสากลด้วย
อีกหนึ่งเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อยก็คือ สถานที่ตั้งของกล่องรับเรื่องร้องเรียน หรือสถานที่ติด QR Code ซึ่งไม่ควรมีกล้องวงจรปิด เพราะอาจจะทำให้ผู้ทุจริตสามารถติดตามได้ว่าใครเป็นคนมาแจ้งเบาะแส เพราะฉะนั้น หลายบริษัทจึงติดตั้งไว้ในห้องน้ำซึ่งเท่ากับว่าการเข้าห้องน้ำครั้งเดียว ปลดทุกข์ไปได้สองเรื่องเลย
จากหลายๆ เรื่องที่เล่ามาข้างต้น จะเห็นว่าบริษัทสามารถจัดตั้งระบบแจ้งเบาะแสได้ไม่ยาก ทุกบริษัทไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจใด มีขนาดเล็กใหญ่แค่ไหนก็สามารถสร้างขึ้นมาได้ และถ้าสามารถพัฒนาระบบการแจ้งเบาะแสที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาแล้ว ก็จะส่งผลดีไม่ต่างกับการติดตั้งสัญญาณกันขโมยให้กับบริษัท แถมยังช่วยให้สามารถรับทราบและป้องกันปัญหาได้อย่างถูกจุดและทันท่วงที รวมถึงทำให้สามารถอุดรูรั่วไหลอื่น ๆ ประหยัดต้นทุนและเพิ่มกำไรอีกด้วย เห็นข้อดีมากมายขนาดนี้แล้ว บริษัทไหนยังไม่มีต้องรีบพัฒนาระบบนี้ขึ้นมาแล้วนะครับ
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน